11 วิธีดูแลรักษาที่นอนกับเรื่องที่อาจเข้าใจผิดมาตลอดชีวิต !

วิธีดูแลรักษาที่นอนที่คุณรู้มาตลอดชีวิตอาจมีเรื่องที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่ วันนี้เลยขอนำวิธีดูแลรักษาที่นอนและเรื่องน่ารู้อื่น ๆ เกี่ยวกับที่นอนมาฝากกัน

ต่อให้ซื้อที่นอนมาแพงแค่ไหนก็อาจการันตีไม่ได้ว่าจะใช้ดีไปกว่าที่นอนถูก ๆ หากดูแลรักษาผิดวิธี วันนี้เลยขอนำวิธีดูแลรักษาที่นอนจาก คุณ ekaluk_mt สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม มาฝาก พร้อมตอบข้อสงสัยหลาย ๆ เรื่องที่ทุกคนอยากรู้เกี่ยวกับที่นอนของตัวเองว่าสิ่งที่เคยรู้มาจริงหรือไม่กันแน่ ต่อจากนี้ไปจะได้ดูแลรักษาที่นอนได้อย่างถูกวิธี พร้อมช่วยรักษาความสะอาดและลดอาการปวดหลังได้ด้วยนะคะ

How to maintain you matterss วิธีดูแลรักษาที่นอนฉบับเต็มพร้อมคำอธิบายครับผม !!!! => โดย คุณ ekaluk_mt

สวัสดีพี่ ๆ สมาชิกทุกท่าน…วันนี้ผมจะขอเล่าเรื่อง How to maintain you matterss หรือวิธีดูแลรักษาที่นอนนะในแง่มุมของผมนะครับ หลังจากที่ผมได้อ่านข้อมูลต่าง ๆ จากในอินเทอร์เน็ต ก็มีหลาย ๆ ที่ที่มีแก่นข้อมูลต่าง ๆ เหมือนกัน ซึ่งผมเองได้อ่านแล้วก็เลยรู้ว่าบางเรื่องนั้นก็เป็นจริง บางเรื่องนั้นก็อาจจะจริง แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปการพัฒนาเทคโนโลยีของที่นอนก็เปลี่ยนตามไปด้วย เลยทำให้ข้อมูลบางอย่างอาจจะจริงแต่จริงเพียงครึ่งเดียวครับ

ผมเลยขอใช้โอกาสตรงนี้มาเพื่อตอบและบอกวิธีการดูแลรักษาที่นอนให้กับทุกคนนะครับ โดยข้อมูลทั้งหมดที่ผมจะพิมพ์ไปนั้นเป็นการกลั่นกรองจากการอ่านผสมกับประสบการณ์ที่ผมมีนะครับ ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นอะไรที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมจะอธิบายเป็นข้อจากสิ่งที่ผมได้มาจากข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและนำมาขยายความเพิ่มนะครับ เพื่อความกระจ่าง เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และให้ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นสามารถนำไปใช้งานได้จริงในปัจจุบัน ผมขอเริ่มเลยนะครับ

1. ควรพลิกกลับด้านที่นอนและสลับด้านที่นอนหัว-ท้ายอย่างน้อย 1 ครั้งทุก ๆ 3 เดือน เพื่อรักษาความคงตัวของที่นอนและไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งยุบตัวถาวร

จริงอยู่การสลับที่นอนนั้นใช้ได้จริงครับ แต่จะใช้ได้กับที่นอนที่เป็นแบบนอน 2 ด้านเหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันที่นอนถูกพัฒนาไปไกลมากเลยทำให้มีออกมาหลายแบบมากครับ โดยมี 3 แบบหลัก ๆ คือ

ที่นอนที่มีฟิลการนอน 2 ด้านเหมือนกัน

ที่นอนที่นอนด้านเดียว

ที่นอนที่ฟิลการนอน 2 ด้านไม่เหมือนกัน คือ ผิวหน้านุ่มด้านหลังแน่นหรือผิวหน้าแน่นด้านหลังนุ่มครับ

ซึ่งการกลับนั้นไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะถ้าที่นอนจะมีปัญหา จะกลับหรือไม่กลับ พลิกหรือไม่พลิก ที่นอนก็จะยังมีปัญหาเหมือนเดิมอยู่ดีครับ ถ้าอีกด้านยุบหรือยวบตรงไหน อีกด้านก็จะเป็นเหมือนกันและทางบริษัทก็ไม่มาดูหรอกครับว่าเรากลับที่นอนแล้วหรือยัง ? นอนยังไงให้ที่นอนยุบ ? เพราะเขาสนใจแค่ว่าจะบริการอย่างไรให้เราพึงพอใจเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์เอาไว้ให้ดีที่สุดครับ ส่วนการเคลมนั้นก็ใช้เวลาแต่ไม่มากนะเพียงแค่ 3-7 วันหรือมาก-น้อยกว่านี้นิดหน่อยครับ

2. ควรแกะพลาสติกที่ใช้หุ้มที่นอนออก เพื่อให้อากาศในที่นอนถ่ายเท

อันนี้เป็นความจริงนะครับ เพราะถ้าไม่แกะพลาสติกออกจะทำให้ที่นอนมีความยืดหยุ่นที่น้อยกว่าที่นอนที่ไม่หุ้มพลาสติกประมาณ 50-60% เลยนะครับ และที่สำคัญเวลาพี่นอนลงไปแล้วนั้นจะมีเสียงที่น่ารำคาญและทำให้ที่นอนร้อนมากด้วย เพราะความร้อนจากร่างกายนั้นจะตีกลับออกมาไม่ต่างอะไรกับนอนบนเสื่อน้ำมัน

นอกจากนี้แม้จะยังไม่แกะพลาสติกออกตอนซื้อมาใหม่ ๆ ผมบอกเลยครับว่าไม่เกิน 1-2 เดือนพลาสติกก็แตก ฉีก และขาดอยู่ดี เพราะพลาสติกมันกรอบและอาจจะแตกออกเป็นเศษเล็ก ๆ ด้วยครับ

3. ควรใช้ผ้ารองกันเปื้อน เพื่อให้ที่นอนสะอาดและดูใหม่อยู่เสมอ

ถ้าพี่จะรักษาสภาพที่นอนจริง ๆ และอยากให้ที่นอนใหม่อยู่เสมอควรใช้ผ้ารองกันเปื้อนด้วยครับ เพราะจะช่วยหุ้มและคลุมตัวที่นอนไม่ให้เกิดคราบเหลืองจากเหงื่อของเรา ซึ่งแรก ๆ ก็อาจจะไม่เห็นผลอะไรมากนักและอย่าคิดว่าผ้าปูที่นอนจะช่วยได้ เพราะผ้าปูที่นอนค่อนข้างและก็มีการซักอยู่เรื่อย ๆ แตกต่างจากที่นอนที่ไม่สามารถนำไปซักได้ ดังนั้นจึงควรใช้ผ้ารองกันเปื้อนปูรองอีกหนึ่งชั้นเพื่อกันเหงื่อและไรฝุ่นไปในตัว จริงอยู่ที่ที่นอนมีสารกันไรฝุ่นอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าสารต่าง ๆ ก็ต้องเสื่อมลงตามเวลา และเศษผิวหนังที่ตกลงบนที่นอนพอนาน ๆ เข้าก็มีปริมาณเยอะอยู่ อาจมองด้วยตาไม่เห็น แต่หากลองใช้เครื่องดูดฝุ่นดูจะเห็นเป็นกองเลยครับ สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้แบบรุนแรง ผมแนะนำเลยครับว่าควรใช้ผ้ารองกันเปื้อนซักบ่อย ๆ รวมไปถึงเก็บกวาดฝุ่นเป็นประจำด้วยนะครับ

ผมเองเจอกับตัวครับ เช่น ทุกครั้งที่กลับบ้านจะมีแม่บ้านเปลี่ยนผ้าปูให้ตลอดครับ 1 เดือนกลับบ้านไม่เกิน 3 ครั้ง ก่อนจะกลับไปก็โทรบอกแม่บ้านให้มาเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกครั้ง แต่แปลกตรงที่หลานผมมานอนห้องผมทีไร มีอาการแพ้ทุกที คัดจมูกบ้าง เป็นผื่นบ้าง ทีแรกก็โทษที่นอนและผ้าปูไม่ดี แต่พอลองเก็บกวาดห้องและทำความสะอาดตามซอกและหลืบต่าง ๆ รวมไปถึงฝุ่นใต้เตียง เชื่อไหมครับว่าไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งตรงนี้ผมเลยขอสรุปเองว่า สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ใช่ดูแต่ที่นอนอย่างเดียวแต่ต้องดูสภาพห้องด้วย เพราะต่อให้ที่นอนเทพขนาดไหน เปลี่ยนผ้าปูบ่อยแค่ไหน แต่ถ้าในห้องมีฝุ่นเยอะ ภูมิแพ้ก็ถามหานะครับผม

4. ควรดึงผ้าปูออกจากที่นอนทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อให้ที่นอนถ่ายเทอากาศได้สะดวก

ข้อนี้ผมเองก็เห็นด้วยครับ แต่ในความคิดของผมถ้าห้องพี่ไม่ชื้นหรือไม่เคยทำน้ำกับขนมที่มีน้ำหกลงบนตัวที่นอน ผมว่าไม่จำเป็นต้องทำทุกสัปดาห์ก็ได้ แค่ดึงให้ผ้าปูที่นอนให้อากาศผ่านเข้าไปด้านในตอนที่เราเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้านวมหรือไส้ผ้านวมก็ได้ครับ

5. เปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องถึงที่นอนเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรใช้ปลอกที่นอนพลาสติกหรือไวนิลและปูทับด้วยผ้าปูที่นอนอีกชั้น


เรื่องเปิดหน้าต่างให้แดดส่องถึงที่นอนนั้นผมมองว่าดีนะครับ แต่ต้องดูดี ๆ ครับเพราะที่นอนบางรุ่นนั้นมีส่วนผสมของยางพาราหรือเมมโมรี่โฟม ถ้าเจอแดดแรงนาน ๆ แบบครึ่งชั่วโมงหรือเป็นชั่วโมง ผมเกรงว่าชั้นยางพาราและชั้นเมมโมรี่จะมีปัญหาและทำให้เสื่อมสภาพเร็วมาก แต่ถ้าอากาศในห้องร้อนพอ ๆ กันแต่ไม่โดนแดดตรง ๆ ที่นอนยางพารากับเมมโมรี่โฟมจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร

ส่วนเรื่องคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ถ้าใช้ที่นอนเส้นใยธรรมชาติควรใช้ปลอกที่นอนพลาสติกหรือไวนิล ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าก็อาจจะช่วยได้ครับ แต่สิ่งที่เพิ่งเจอเองเลยก็คือความร้อนที่สะท้อนกลับขึ้นมา ไม่ต่างจากที่นอนที่ไม่แกะพลาสติกเลยครับ ซึ่งผมมองว่าถ้าเน้นเรื่องภูมิแพ้จริง ๆ ผมว่าแค่ซักผ้าปูที่นอน ผ้านวม ปลอกหมอน หมอน และทำความสะอาดอยู่เสมอก็ช่วยได้แล้วครับ

6. ที่นอนควรวางบนเตียงนอนหรือฐานรองที่นอน เพื่อให้สปริงเกิดความยืดหยุ่น

เพราะที่นอนถูกออกแบบมาให้วางบนพื้นอะไรก็ได้แค่สามารถรองรับน้ำหนักได้ก็พอ ส่วนเตียงนอนหรือฐานรองที่นอนไม่ได้จำเป็นและไม่ได้ช่วยยืดอายุที่นอนอย่างที่ใครหลายคนกล่าวไว้ ส่วนการรับประกันก็เท่าเดิมไม่มีเพิ่มเติมจากนี้แม้จะซื้อฐานรองไปพร้อมเบาะนอนก็ตาม ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้นอนแหละครับ จะวางตรงไหนก็ได้ขอแค่เป็นพื้นเรียบ ๆ ก็พอครับ

7. ควรหมั่นตรวจสอบฐานรองและขาตั้งให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอเพื่อความปลอดภัย

ตรงนี้ผมเองเห็นด้วยว่าควรหมั่นตรวจสอบเตียงและฐานรองให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอครับ ซึ่งผมเองอยู่จุดนี้ขอบอกเลยว่าเจอบ่อยมากครับ เช่น โทรมาแจ้งผมว่าที่นอนยุบนอนแล้วปวดหลังหรืออะไรก็แล้วแต่จะโทษที่นอนว่าไม่ดี แต่จากสถิติ 4 ใน 10 คนมีปัญหามาจากฐานเตียงที่ส่งผลกระทบมาถึงตัวที่นอนและเรื่องการนอนครับ เลยทำให้มีปัญหาเรื่องปวดหลังครับ

8. ไม่ควรยืนหรือกระโดดบนที่นอน

เรื่องนี้จริงนะครับและจริงมากด้วยครับ เพราะการทำงานของระบบสปริงนั้นจะทำงานเป็นวงกว้างไม่สามารถรับน้ำหนักของคน 1 คนได้เพียงสปริงไม่กี่ตัว เช่น เวลาพี่นั่งหรือนอนนั้น สปริงในการรับน้ำหนักเรานั้นจะอยู่ที่ 15-30 ตัวโดยจะช่วยพยุงร่างกายของเราไม่ให้จมตัวบนที่นอนครับ ซึ่งจำนวนสปริงก็ขึ้นอยู่กับแบรนด์ รุ่น และจะผันแปรตามน้ำหนักกับขนาดตัวของผู้นอนด้วยนะครับ

แต่พอพี่ยืนบนที่นอนสปริงในการรับน้ำหนักจะอยู่ที่ 2-6 ตัว และสปริงแต่ละตัวมีความหนาอยู่ที่ 0.9-2.4 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง แน่นอนว่าถ้ามีคนขึ้นไปกระโดดก็จะทำให้สปริงล้มหรือยวบลงมาได้ครับ ฉะนั้นถ้าจะใช้ที่นอนสปริงอย่ายืนเหยียบหรือกระโดดบนที่นอนเลยครับ สำหรับบ้านที่มีเด็กแนะนำให้ดูที่นอนยางพาราหรือที่นอนยางพาราสังเคราะห์ดีกว่าครับ

9. ไม่ควรหักหรืองอที่นอนขณะเคลื่อนย้าย

ถ้าเป็นที่นอนยางพาราหรือที่นอนที่ไม่มีสปริงสามารถหักหรืองอได้ 100% ครับ ส่วนที่นอนสปริงสามารถงอได้ประมาณหนึ่งยกเว้นบางรุ่นที่อาจจะพับให้เป็นรูปตัว U ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเป็นช่างผู้ชำนาญนะครับ ซึ่งผมเองส่งของเองก็เยอะและคุมเด็กส่งของมาก็มาก ไปเทรนด์ตามโรงงานและต่างประเทศก็มีบ้าง เลยพบว่าที่นอนบางตัวสามารถพับได้เลยเพราะเขาใส่ตัวข้อต่อพับครึ่งมาให้ครับ อีกทั้งสปริงที่นอนสมัยนี้เป็นคาร์บอนเกรดดีทำให้มีความยืดหยุ่นสูง แต่เนื่องจากที่นอนสมัยก่อนทำสปริงจากเหล็กเลยทำให้ไม่สามารถพับหรืองอได้นั่นเอง

10. หากต้องการทำความสะอาดที่นอนและฐานที่นอนควรใช้น้ำสบู่ขัดตรงรอยเปื้อนเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาด แล้วปล่อยให้แห้งสนิทก่อนการใช้งาน

เรื่องตัวที่นอนเปื้อนตรงนี้บอกเลยครับว่า ถ้าเปื้อนไปแล้วเอาออกยากมาก น้ำสบู่ก็อาจช่วยได้แต่ช่วยได้นิดเดียวเองครับ ผมเองอยู่อาชีพนี้บอกเลยครับว่าขนาดผมใช้น้ำยาแพง ๆ จากห้างหรือต่างประเทศยังช่วยได้น้อยเลยครับ ซึ่งตรงนี้ผมเองต้องบอกว่าถ้าเป็นไปได้อย่าให้เปื้อนเลยครับดีที่สุดครับ

11. มาตรฐานที่นอนทั่วไปจะมีอายุการใช้งานระหว่าง 5-10 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและการใช้ที่นอนอย่างเหมาะสม

แม้ที่นอนบางรุ่นจะรับประกันถึง 10 ปี 12 ปี หรือ 18-20 ปี แต่นักวิจัยเผยว่าที่นอน 1 หลังถ้าใช้ให้คุ้มจริง ๆ เขาจะใช้เพียง 70-80% ของอายุของการรับประกันเท่านั้น เพราะคนเราแก่ขึ้นทุกปีและการนอนก็เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ไม่ได้ซื้อมาใช้ยาว ๆ 15-20 ปี แบบบ้านเราครับ โดยบางคนฝืนนอนไปเรื่อย ๆ จนมีอาการปวดหลังหรือที่นอนยุบเป็นแอ่งถึงเปลี่ยนที่นอน แต่ถ้าเปลี่ยนตอนนั้นก็สายไปแล้วครับ เพราะต้องจ่ายทั้งค่าที่นอนที่แพงขึ้นกว่าคนปกตินอน แถมยังต้องมาจ่ายค่าหาหมอด้วยนะครับ ซึ่งมีลูกค้าถึง 8 ใน 10 ที่เปลี่ยนที่นอนเพราะปวดหลัง อีก 2 คนบอกเปลี่ยนเพราะที่นอนยุบ ซึ่งถ้าเป็นกรณีแบบ 2 คนนี้บอกเลยครับว่าโชคดีมากเพราะเปลี่ยนที่นอนแล้วจบ แต่ถ้าเป็นแบบ 8 คนแรกละก็แย่เลยเพราะใช้เวลารักษาอีกนานเลยล่ะครับ และผมก็เคยเจอกับอาม่าและอาอี๊ผมเองครับ ตามประสาคนจีนครับของดีขายหมด ของไม่ดีเก็บไว้ใช้เอง บอกให้เปลื่ยนก็ดื้อไม่ยอมเปลี่ยน จนตัวเองปวดหลังเรื้อรัง สุดท้ายอาม่าผมก็ต้องเปลี่ยนที่นอนและหาหมอด้วย แถมยังต้องมาพักฟื้นอีกตามสูตรเลยครับผม !!!

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top